การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2567

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2566

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2565

การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ พ.ศ. 2564

ผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2559 - 2565

ระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

ความเป็นมา

              ภายหลังการปฏิรูประบบราชการไทยเมื่อปี พ.ศ. 2545 และการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 หน่วยงานภาครัฐได้มีการปรับตัวเพื่อให้สอดคล้องกับยุคสมัยและตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนอย่างต่อเนื่อง มีการนำแนวคิดวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือหลักธรรมาภิบาล (Good Governance) มาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน อย่างไรก็ตามตลอดช่วงเวลากว่า 1 ทศวรรษที่ผ่านมา ยังคงมีข่าวการดำเนินงานที่ขาดความโปร่งใสและการร้องเรียนเรื่องทุจริตในการรับบริการของหน่วยงานภาครัฐจากภาคประชาชนอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ การที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับภาพลักษณ์การทุจริต (Corruption Perception Index: CPI) โดยองค์การเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ ซึ่งที่ผ่านมามีค่าคะแนนค่อนข้างต่ำมา โดยตลอด ล่าสุดประเทศไทยมีค่าคะแนนภาพลักษณ์การทุจริต ประจำปี 2557 อยู่ที่ 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 85 จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก
              สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ตระหนักถึงผลกระทบจากปัญหาการทุจริตภายในประเทศ ทั้งในแง่จำนวนคดีการทุจริตและในแง่ทัศนคติการรับรู้ ของประชาชน ตลอดจนนักธุรกิจ นักลงทุนต่างประเทศ ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2552 สำนักงาน ป.ป.ช. จึงได้เริ่มศึกษากรอบแนวคิดทฤษฎีที่เกี่ยวข้องและเครื่องมือการวัดระดับความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐ โดยใน ปี พ.ศ. 2553 ได้เริ่มทดสอบใช้เครื่องมือการประเมินความโปร่งใสกับหน่วยงานภาครัฐ 8 หน่วยงาน ผลการทดลองใช้เครื่องมือดังกล่าว นำมาสู่การพัฒนา
กรอบแนวคิดในการประเมินผลความโปร่งใสที่สามารถ ใช้เป็นเครื่องมือทางการบริหารในการขับเคลื่อนหน่วยงานภาครัฐให้มีการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล และกระบวนการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) ที่มีความโปร่งใสมากยิ่งขึ้น รวมถึงให้ทราบถึงระดับความโปร่งใสในการดำเนินงานตามภารกิจหลักของหน่วยงานโดยเรียกเครื่องมือนี้ว่า “ดัชนีวัดความโปร่งใสในการ
ดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Transparency Index of the Public Agencies)” ซึ่งเป็นการประเมินหน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่าจากเอกสารหลักฐานการดำเนินงานเชิงประจักษ์ (Evidence – based) ที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงมาใช้ในการประเมินระดับความโปร่งใสและการดำเนินงานตาม หลักธรรมาภิบาลและกระบวนการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2554 ได้ทำการประเมินหน่วยงานภาครัฐนำร่อง 45 หน่วยงาน มีค่าคะแนนความโปร่งใสเฉลี่ย 65.99 คะแนน จากนั้น ในปี พ.ศ. 2555 ได้ ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาดัชนีวัดความโปร่งใสของหน่วยงานภาครัฐอีกครั้ง โดยในครั้งนี้มีหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมการประเมิน จำนวน 110 หน่วยงาน มีค่าคะแนนความโปร่งใส เฉลี่ย 61.67 คะแนน

หลักการและเหตุผล

              ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐที่มีการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส มีการบริหารงานอย่างไม่มีคุณธรรมและจริยธรรม รวมไปถึงการทุจริตและประพฤติมิชอบเกิดขึ้นอย่างมากมาย ก่อให้เกิดผลกระทบและความเสียหายต่อประเทศอย่างมหาศาล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้ตระหนักถึงปัญหาและผล
กระทบดังกล่าว จึงได้มีแนวคิดในการพัฒนาเครื่องมือที่จะบ่งชี้ระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐขึ้น และต่อมา ได้พัฒนาเป็นระบบการประเมินคุณธรรม
และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ในปี พ.ศ. 2556 การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity & Transparency Assessment
: ITA) เป็นเครื่องมือที่มีเนื้อหาการสำรวจเกี่ยวกับการดำเนินงานที่มีคุณธรรมและความโปร่งใส การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามจรรยาบรรณ การบริหารงานอย่างมีจริยธรรม ตลอดจนการจ่ายหรือเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยสำรวจทั้งในมิติการรับรู้ (Perception – Based) คือ สำรวจความคิดเห็นของผู้รับบริการหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหน่วยงานภาครัฐ (External Stakeholders) และเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานภาครัฐ (Internal Stakeholders) และในมิติหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence – Based) คือ สำรวจจากหลักฐานการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
              1. เพื่อประเมินผลระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ
              2. เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐได้รับทราบแนวทางในการปรับปรุงหรือพัฒนาในเรื่องคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงาน
              การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐได้ถูกกำหนดเป็นมาตรการเสริมเชิงบวกด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ในยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 500 – 65/2556 เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 จึงได้มีมติเห็นชอบในหลักการให้นำระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ไปปฏิบัติในปี พ.ศ. 2557 และ พ.ศ. 2558 – 2560 เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินผลการป้องกันการทุจริต
และยกระดับคุณธรรมและ ความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้สูงขึ้น ในปี พ.ศ. 2557 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐเป็นการนำร่อง ในลักษณะขอความร่วมมือหน่วยงาน ให้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย องค์กรอิสระ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรศาล (เฉพาะสำนักงาน) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ส่วนราชการส่วนกลางระดับกระทรวงและสังกัดภายใต้กระทรวง ส่วนราชการระดับจังหวัด รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ จำนวน 259 หน่วยงาน ซึ่งหน่วยงานภาครัฐต่างให้ความร่วมมือ เป็นอย่างดี และผลการประเมินพบว่าหน่วยงานภาครัฐมีคะแนนเฉลี่ย 72.84 คะแนน ซึ่งถือว่ามีระดับคุณธรรมและความโปร่งใสในระดับสูง
              ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐแปลงแนวทางและมาตรการตามยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2556 – 2560) ไปสู่การปฏิบัติ โดยให้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี โดยมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุนการขับเคลื่อนเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมีการนำยุทธศาสตร์ชาติฯ ไปขับเคลื่อนอย่างจริงจัง ในปี พ.ศ. 2558 สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ดำเนินการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และได้ขยายขอบเขตหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมโครงการไปทั่วประเทศ ประกอบด้วย องค์กรอิสระ องค์กร ตามรัฐธรรมนูญ องค์กรศาล (เฉพาะสำนักงาน) สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ส่วนราชการส่วนกลางระดับกระทรวงและสังกัดภายใต้กระทรวง
ส่วนราชการระดับจังหวัด รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ รวมจำนวน 8,197 หน่วยงาน โดยมีหน่วยงานที่ร่วมรับผิดชอบการประเมิน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) และ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นอกจากนี้ ผลคะแนนการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐยังได้นำไปเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินผลการปฏิบัติราชการของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันโครงการอยู่ในระหว่างการประมวลผลคะแนนในขั้นสุดท้าย
              ปัจจุบัน รัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วยงานเข้าร่วมรับการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 – 2560 ตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. เสนอ

กรอบแนวคิดของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

              หลักทฤษฎีของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการประเมินในลักษณะการวิจัยทางสังคมศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ โดยมีแบบแผน การวิจัย (Research Design) เป็นแบบการวิจัยเชิงผสมผสาน (Mixed Methods Research) ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยที่ผนวกเทคนิค กระบวนการ หรือขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งของเทคนิควิธีเชิงคุณภาพ (Qualitative Method) และเทคนิควิธีเชิงปริมาณ (Quantitative Method) เข้าด้วยกัน โดยทั้งสองเทคนิควิธีจะดำเนินไปพร้อมๆ กัน จนกระทั่งวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันและสรุปผลการวิจัย ดังนี้

ขอบเขตการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ

              1. ขอบเขตด้านเนื้อหา
                  เนื้อหาในการประเมินต้องมีความตรง (Validity) และครอบคลุมในคุณลักษณะเกี่ยวกับคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาล รวมไปถึงความโปร่งใสที่หน่วยงานภาครัฐพึงจะปฏิบัติ ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตตามที่ระเบียบหรือกฎหมายกำหนด และต้องมีลักษณะไม่เฉพาะเจาะจงจนเกินไป เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐทุกรูปแบบสามารถเข้ารับการประเมินได้ สำนักงาน ป.ป.ช. ได้กำหนดเนื้อหาของการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ โดยมีเนื้อหาของการประเมิน ประกอบด้วย 5 ดัชนี ดังนี้
                  (1) ดัชนีความโปร่งใส (Transparency Index)
                  (2) ดัชนีความพร้อมรับผิด (Accountability Index)
                  (3) ดัชนีความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน (Corruption – Free Index)
                  (4) ดัชนีวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร (Integrity Culture Index)
                  (5) ดัชนีคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน (Work Integrity Index)
              2.กลุ่มเป้าหมาย
              การประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ใช้วิธีวิจัยที่สำคัญ 2 วิธี คือ
                  (1) การวิจัยจากเอกสาร (Document Research) โดยจัดเก็บข้อมูลจากเอกสารหรือหลักฐาน ตามแบบสำรวจใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ Evidence – Based Integrity & Transparency Assessment โดยให้หน่วยงานที่เข้ารับการประเมินตอบคำถามเกี่ยวกับคุณลักษณะ ระบบ หรือขั้นตอนที่หน่วยงานดำเนินการจริงและมีหลักฐานประกอบที่มีคุณลักษณะที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล คุณธรรม จริยธรรมและความโปร่งใสสำหรับหน่วยงานภาครัฐ
                  (2) การวิจัยจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง (Sample Survey‎ Research) โดยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดเห็น การรับรู้ และประสบการณ์จากกลุ่มตัวอย่างที่ตอบคำถามตามแบบสำรวจความคิดเห็น External Integrity & Transparency Assessment และแบบสำรวจความคิดเห็น Internal Integrity & Transparency Assessment เกี่ยวกับการปฏิบัติงาน กระบวนการ และพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ภายในหน่วยงานภาครัฐ เรื่องความโปร่งใส ความพร้อมรับผิด ความปลอดจากการทุจริตในการปฏิบัติงาน วัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร และคุณธรรมการทำงานในหน่วยงาน โดยการกำหนดกลุ่มตัวอย่างให้สอดคล้องและเหมาะสม